ประเมินสถานภาพสัตว์ทะเลหายาก พื้นที่ จ.ตรัง
  • 29 ธ.ค. 2566
  • 504

วันที่ 25 - 28 ธันวาคม 2566 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนล่าง ออกปฏิบัติงานสำรวจ ประเมินสถานภาพ และตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยวิธีการสำรวจทางเรือ รูปแบบ Line transect ในพื้นที่ จ.ตรัง บริเวณหาดสำราญ อ่าวตะเสะ เกาะสุกร เกาะเหลาเหลียง เกาะเภตรา และหมู่เกาะใกล้เคียง รวมพื้นที่ประมาณ 365 ตร.กม. ผลการสำรวจ พบโลมาหลังโหนก ( _Sousa chinensis_ ) จำนวน 31 ตัว แบ่งตามพื้นที่สำรวจดังนี้ บริเวณหน้าหาดสำราญจำนวน 12 ตัว บริเวณเกาะเหลาเหลียงจำนวน 5 ตัว และบริเวณเกาะสุกร จำนวน 14 ตัว โดยพบการรวมฝูงกันตั้งแต่ 2 – 12 ตัว เป็นคู่แม่ลูก 4 คู่ มีพฤติกรรมว่ายน้ำปกติ ว่ายต้อนลูกปลาหาอาหาร กระโดดเล่นน้ำ และมีการว่ายน้ำเข้าใกล้เรือ ผลการการประเมินสุขภาพจากระยะไกล พบว่าโลมามีสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรง อัตราการหายใจ 3 - 5 ครั้ง ใน 5 นาที เสียงหายใจปกติ ไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยที่เกิดจากการถูกเครื่องมือประมงหรือขยะทะเลพันรัด พบโลมา 1 ตัวมีแผลสดบริเวณครีบหลังเล็กน้อยซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมฝูง ทั้งนี้ได้ทำการรวบรวมข้อมูลคุณภาพน้ำในบริเวณที่สำรวจพบโลมา พบว่าความลึกน้ำอยู่ในช่วง 3.3 – 12.0 เมตร คุณภาพน้ำความเป็นกรด - ด่าง อยู่ในช่วง 7.03 – 7.90 อุณหภูมิน้ำ 27.8 – 31.0 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30 - 33 ppt ในส่วนของการดำเนินการเกี่ยวกับภาพถ่ายของโลมาหลังโหนกที่สำรวจพบนี้จะมีการระบุตัวตน (Photo-ID) เพื่อนำไปคำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของโลมาหลังโหนกในบริเวณนี้ต่อไป

สถานการณ์สำคัญทางทะเลที่เกี่ยวข้อง