สำรวจสถานภาพแนวปะการัง พื้นที่ จ.กระบี่
  • 22 ก.พ. 2567
  • 402

วันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2567 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนล่าง  สำรวจสถานภาพแนวปะการัง โดยวิธี Line intercept transect บริเวณเกาะลันตาด้านทิศตะวันตก เกาะปอ เกาะปู และเกาะกา จ.กระบี่ ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่าสถานภาพปะการังอยู่ในระดับสมบูรณ์ปานกลาง ปะการังชนิดเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังจาน (Turbinaria spp.) ปะการังกาแล็กซี่ (Galaxea fascicularis) และปะการังวงแหวน (Dipsastraea spp.) กลุ่มปลาชนิดเด่น ได้แก่ ปลาสลิดหินเล็กเกล็ดวาว (Neopomacentrus anabatoides) และปลาสลิดหินเล็กท้ายเหลือง (Neopomacentrus cyanomos) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดเด่น ได้แก่ เม่นดำหนามยาว (Diadema setosum) และทากเปลือยปุ่มดำขาว (Phyllidiella pustulosa) ปะการังวัยอ่อนกลุ่มเด่นที่พบ ได้แก่ ปะการังวงแหวน กับปะการังดอกเห็ดเล็กผิวเรียบ และพบลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางสีของปะการังและการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะแวดล้อม โดยมีลักษณะเป็นจุดสีชมพู ปะการังบางส่วนถูกปกคลุมด้วยตะกอน ขยะทะเลที่พบส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทเศษเชือกและเศษอวน ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำพื้นฐาน อุณหภูมิน้ำ 29-31 องศาเซลเซียส ความเค็ม 32 พีพีที และค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วง 7.91 -7.95 และค่าปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ 6.0 - 6.2 มิลลิกรัมต่อลิตร เบื้องต้นพบว่าคุณภาพน้ำทั่วไปอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 1, 2 และ 4 เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, เพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง และการนันทนาการ (กรมควบคุมมลพิษ, 2564)

สถานการณ์สำคัญทางทะเลที่เกี่ยวข้อง