วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนล่าง ร่วมกับสถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์ชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำรวจประเมินสถานภาพปะการังโดยวิธี Line intercept transect บริเวณเกาะขาม เกาะหนู และเกาะแมว จ.สงขลา ผลการสำรวจสถานภาพปะการัง พบว่าบริเวณเกาะแมว (ทิศใต้) และเกาะหนู (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ปะการังอยู่ในสภาพเสียหาย ซึ่งเกิดจากตะกอนปกคลุมบนปะการัง ทำให้ปะการังจาน (Turbinaria sp.) ปะการังมีสีซีดในจุดที่ตะกอนปกคลุม ส่วนบริเวณเกาะขาม พบปะการังอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดีถึงสมบูรณ์ดีมาก ซึ่งทั้ง 3 บริเวณ ไม่พบการเกิดปะการังฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเล 30-31 องศาเซลเซียส ความเค็ม 32 ppt. ความลึกประมาณ 2.5-4.5 เมตร ปะการังชนิดเด่นคือ ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) ปะการังที่พบได้โดยทั่วไป ได้แก่ ปะการังจาน (Turbinaria sp.) ปะการังโขด (Porites lutea) และปะการังลายดอกไม้ (Pavona sp.) ชนิดปลาที่พบได้มากในแนวปะการัง ได้แก่ กลุ่มปลากล้วยหางเหลือง (Caesio cuing) ปลากล้วยฟ้าแถบสีทอง (Caesio caerulaurea) และปลาสลิดหินบั้งหางมน (Abudefduf bengalemsis) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบ คือกลุ่มทากเปลือยปุ่มกลมดำ (Phyllidiella nigra) ทากเปลือยทองหยิบ (Glossodoris atromarginata) และทากเปลือยปุ่มทวารข้าง (Fryeria marindica) และพบขยะในแนวปะการังส่วนใหญ่เป็นขยะตกค้างจากกิจกรรมประมง เช่น เชือกเรือ เศษอวน และเอ็นตกปลา และเจ้าหน้าที่ได้เก็บอวนออกจากแนวปะการังเรียบร้อยแล้ว
