วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนกลาง สำรวจสถานภาพทรัพยากรปะการังในทะเล จ.สุราษฎร์ธานี บริเวณหินน้ำลาย เกาะมัดสุ่มด้านเหนือ หินอ่างวังด้านใต้ หินลาใหญ่ด้านใต้ เกาะสมุย (แหลมสอ) และเก็บ Data logger (เครื่องวัดอุณหภูมิน้ำ) โดยวิธีดำน้ำลึก Line-Intercept Transect ผลการสำรวจพบว่า มีระดับน้ำทะเลลึกประมาณ 2-4 เมตร อุณหภูมิน้ำประมาณ 30 องศาเซลเซียส ทัศนวิสัยใต้น้ำประมาณ 3-5 เมตร ปะการังกลุ่มเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังลายลูกฟูก (Pachyseris speciosa) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังวงแหวน (Favia sp.) ปะการังสมองร่องยาว (Platygyra sp.) ปะการังช่องเล็ก (Montipora sp.) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona sp.) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites sp.) ปลาที่พบในแนวปะการัง ปลาสลิดหินหางขลิบดำ (Chromis ternatensis) ปลาสลิดหินหางพริ้วธรรมดา (Neopomacentrus cyanomos) ปลากล้วยฟ้าหลังเหลือง (Caesio xanthonota) ปลาอมไข่ลายหางจุด (Apogon cookii) ปลากระดี่ทะเลครีบดำ (Pempheris vanicolensis) ปลานกขุนทองลายจุด (Halichoeres argus) ปลาสลิดหินเส้นหยัก (Pomacentrus nagasakiensis) ปลาสลิดหินเทา (Pomacentrus adelus) ปลาทรายขาวเส้นขาว (Scolopsis ciliata) จากการสำรวจอาการของโรคปะการังที่พบ ได้แก่ การกินเนื้อเยื้อปะการังของหอยดูเพลล่า พบฟอกขาวบางส่วนของโคโลนี อาการผิดปกติของเม็ดสีโคโลนีปะการัง เช่น จุดชมพูบนปะการังโขด จุดม่วงบนปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.) พบการเจาะของหอยและการไชของเพรียงบนตัวปะการัง และตะกอนรบกวนปะการัง ส่วนสัตว์ในแนวปะการังที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ เม่นดำหนามยาว (Diadema setosum) ทากเปลือยโจรันนา (Jorunna funebris) ฟองน้ำครก (Xestospongia testudinaria) และพบขยะในแนวปะการังเป็นเศษอวนสภาพเก่าทับอยู่บนซากปะการัง
