ทช. ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลือง (Yellow Band Disease) บริเวณช่องแสมสาร จ.ชลบุรี
  • 30 พ.ย. 2565
  • 487

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 อธิบดีอรรถพล เจริญชันษา และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลือง (Yellow Band Disease) บริเวณช่องแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมรับฟังการรายงานสถานการณ์สถานภาพแนวปะการัง และการรายงานผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และบูรณาการงานเครือข่ายทางทะเลในพื้นที่ ในการนี้มีนายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้ากรมฯ และผู้แทนจากหน่วยงานมูลนิธิรักษ์ปะการังในความอุปถัมภ์ของ ชมรมนักดำน้ำอาสาสมัครแสมสาร เทศบาลสัตหีบ องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดชลบุรี และคณบดี คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เข้าร่วมในครั้งนี้ 
จากนั้น อธิบดี ทช. และคณะได้ลงดำน้ำบริเวณเกาะจาน เพื่อเฝ้าติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลืองไม่ให้ติดต่อลุกลามและหยุดยั้งการตายของปะการัง ของสถานการณ์ในปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 1 มูลนิธิรักษ์ปะการังในความอุปถัมภ์ของบริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และอาสาสมัครนักดำน้ำ ร่วมกันดำสำรวจบริเวณดังกล่าว ส่วนสาเหตุสำคัญของการระบาดโรคปะการังนั้น มีความซับซ้อนและไม่เป็นที่เข้าใจ แม้ว่าการวิจัยชี้ให้เห็นว่าตัวการสำคัญของโรคปะการังนั้นเกิดจากภาวะโลกร้อน แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ปะการังเกิดภาวะความเครียดนั่นก็คือ มลพิษบนบก การตกตะกอนการจับปลามากเกินไป และการใช้งานโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง ดังนั้น ตนจึงสั่งการให้นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านปะการัง เตรียมพร้อมและวางแผนเพื่อรับมือการระบาดของโรคปะการัง พร้อมดึงเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ตลอดจนภาคีเครือข่ายจังหวัด ท้องถิ่น ภาคเอกชน และคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการระบาดของโรคปะการัง รวมถึงอธิบายขั้นตอนในการตรวจหา ประเมิน การตอบสนองต่อการระบาดโรคปะการัง การรับรู้และระบุโรคปะการัง เป็นต้น ทั้งนี้ ยังพบปะการังที่เป็นโรคระบาดอยู่จำนวนค่อนข้างมากในบริเวณเกาะขามและพื้นที่หมู่เกาะสัตหีบ-แสมสาร จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและเดินเรือ ประชาชนในพื้นที่ ให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากพบเจอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สถานการณ์สำคัญทางทะเลที่เกี่ยวข้อง