วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการคนเคาะข่าว เกี่ยวกับประเด็นการเสียชีวิตของพะยูนในปัจจุบัน กำแพงกันคลื่น และโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยมีนายนพรัฐ พรวนสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ อธิบดี ทช. กล่าวว่า จากการสำรวจสถานภาพในปี พ.ศ. 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว โดยพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยพบประมาณ 31 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันพบประมาณ 242 ตัว แม้ว่าจากการสำรวจจะพบว่าประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ยังมีการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนอยู่ทุกปี ซึ่งมีการตายจากสาเหตุต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ถูกกระแทกด้วยของแข็ง การกินเศษพลาสติก อุบัติเหตุ และเครื่องมือประมง การเกยตื้นของพะยูนในปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 - กันยายน 2565) พบพะยูนเกยตื้นรวม 18 ตัว โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการป่วยร้อยละ 73 สำหรับในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม - ธันวาคม 2565) พบพะยูนเกยตื้นรวม 7 ตัว โดยเป็นการเกยตื้นในพื้นที่จังหวัดระยอง 1 ตัว ชลบุรี 1 ตัว ตรัง 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว สุราษฎร์ธานี 2 ตัว โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการป่วย 3 ตัว (ร้อยละ 43) สาเหตุจากการถูกกระแทกด้วยของแข็ง (กระดูกซี่โครงหัก) 2 ตัว ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดชลบุรี (ร้อยละ 29) สาเหตุจากการป่วยร่วมกับการคาดว่าติดเครื่องมือ 1 ตัว (ร้อยละ 14) และไม่ทราบสาเหตุจากสภาพซากเน่ามาก 1 ตัว (ร้อยละ 14) ส่วนเรื่องของกำแพงกันคลื่น การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) คือการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ดูแลชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ซึ่งชายฝั่งทะเลประเทศไทย มีลักษณะหลากหลายเนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมต่างๆ กัน โดยจำแนกออกได้เป็นชนิดต่างๆ คือ การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างไม่เหมาะสมหรือผิดประเภท การขาดปริมาณตะกอนสะสมตัวตามแนวชายฝั่งทะเล การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ เช่น คลื่น กระแสน้ำ น้ำขึ้น - น้ำลง ลมและพายุ เป็นต้น และการขาดระบบข้อมูลพื้นฐาน โดยกรม ทช. ได้มีการสำรวจและศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำเสมอถึงการผลักดันโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาโครงการกำแพงป้องกันคลื่นให้ได้อย่างถาวรและมีประสิทธิภาพ เพราะอย่างไรความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการอย่างเร่งด่วน สุดท้าย เป็นเรื่องของการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์ จากคาร์บอนเครดิต โดย อทช. ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กรม ทช. ได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ ภายในปี 10 ปี และภายใต้การดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ในปี 2565 ได้เตรียมพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการ ทั้งสิ้น 44,281.13 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ กรม ทช. ได้ตั้งไว้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคนในการมีส่วนร่วม กรม ทช. จะมุ่งมั่นและตั้งใจอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนร่วมกับพี่น้องประชาชน พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต และประสานพลังความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ต่อไป
