วันที่ 19 - 24 มกราคม 2566 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนล่าง ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโท คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมออกปฏิบัติงานสำรวจประเมินสถานภาพสัตว์ทะเลหายากและติดตามตรวจสุขภาพเบื้องต้นจากการสังเกตระยะไกล (Far inspection) ด้วยสายตาและภาพถ่าย (Photo identification) โดยวิธีการสำรวจทางเรือและสำรวจทางอากาศโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) บริเวณพื้นที่บริเวณเกาะสาหร่าย เกาะตันหยงอุมา เกาะเกวใหญ่ เกาะเกวเล็ก เกาะเปลากอ เกาะเปลาออ เกาะตีกาเล็ก เกาะกวาง และเกาะใกล้เคียง จ.สตูล เพื่อประเมินชนิด จำนวนประชากร และสุขภาพสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งจากการสำรวจพบโลมาทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin) พบบริเวณทิศตะวันตกและทิศใต้ของเกาะสาหร่ายจำนวน 2 ตัว เกาะหัวมัน และเกาะตีกา 2 และ 3 ตัวตามลำดับ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise) พบบริเวณเกาะเกาะเกวเล็ก จำนวน 10 ตัว และโลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin) พบบริเวณเกาะเปลากอ จำนวน 2 ตัว ทิศใต้ของเกาะสาหร่าย 2 ตัว และเกาะเกวเล็ก 3 ตัว นอกจากนี้ยังพบพะยูน จำนวน 1 ตัว บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะตันหยงอุมาซึ่งอยู่นอกขอบเขตพื้นที่อุทยานฯ ผลการประเมินสุขภาพ พบว่า พะยูนมีสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรง แสดงพฤติกรรมกินหญ้าทะเล ส่วนโลมาทั้ง 3 ชนิดมีสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรง อัตราการหายใจ 5-7 ครั้งต่อ 5 นาที เสียงหายใจปกติ และพบโลมาหลังโหนก มีบาดแผลถลอกบริเวณครีบหลัง 1 ตัว ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ พฤติกรรมส่วนใหญ่ที่พบของโลมาทั้ง 3 ชนิด คือ หาอาหาร ว่ายน้ำ กระโดด การดำเนินการเกี่ยวกับโลมาหลังโหนกที่สำรวจพบนี้จะมีการระบุตัวตนเพื่อนำไปคำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของโลมาหลังโหนกในบริเวณนี้ต่อไป
