วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่6 (พังงา) พร้อมด้วย ศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนบน ร่วมกันติดตามสถานการณ์หลุมฟักไข่เต่ามะเฟือง หลังตรวจพบการยุบตัวของปากหลุมรังฟักไข่รังที่ 3 ตั้งแต่เวลา 03:30 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด พบปากหลุมได้ยุบตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 00.00 น. ลูกเต่ามะเฟืองได้ทะยอยขึ้นปากหลุมอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่รอสักพักไม่มีลูกเต่ามะเฟืองขึ้นมา จึงได้ช่วยเปิดปากหลุม และดำเนินการขุดช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่ขึ้นมาจากหลุมนำไปปล่อยลงสู่ทะเล จำนวน 73 ตัว นำไปอนุบาลที่ ศวอบ. จำนวน 25 ตัว ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีน้ำเชื้อ จำนวน 16 ฟอง และลูกเต่ามะเฟืองตายแรกคลอด จำนวน 5 ตัว คิดเป็นอัตราการฟัก 87% อัตราการรอดตาย 95% ซึ่งรังไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 3 เป็นรังที่ตรวจพบเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 จำนวนไข่ 119 ฟอง นับเป็นวันที่ 57 หลังจากที่พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่
