วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนบน ได้รับแจ้งจาก นายพลวรรธน์ จันทร์เพ็ชร หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลกะรน พบกลุ่มนักท่องเที่ยวประสบเหตุจากแมงกะพรุนจำนวนมาก ในบริเวณพื้นที่หาดกะตะ และหาดกะรน จ.ภูเก็ต จึงได้เข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหาแนวทางในการป้องกันอันตรายจากพิษแมงกระพรุน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลกะรน ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลหาดกะตะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองภูเก็ต โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกะรน ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล หาดกะตะ โดยตรวจสอบพบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คาดว่าได้รับอันตรายจากแมงกะพรุนไฟโดยพิจารณาจากข้อมูลการสำรวจแมงกะพรุนพิษของศวอบ.และรอยแผลของผู้ประสบเหตุ ซึ่งผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่ได้รับอันตรายไม่รุนแรง พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของป้ายความรู้แนวทางการปฐมพยาบาล และเสาน้ำส้มสายชู ที่ทาง ศวอบ. และสทช.10 ติดตั้งในพื้นที่ ซึ่งแนวทางแก้ไขเบื้องต้น ได้เสนอการจัดทำป้ายความรู้แนวทางการปฐมพยาบาล พร้อมเสาน้ำส้มสายชูเพิ่มบริเวณพื้นที่หาดกะตะและกะรน และเพิ่มช่องทางการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษของแมงกะพรุนและขั้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต
