วันที่ 18-19 และ 22-25 พฤษภาคม 2566 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ บริเวณ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี พบสัตว์ทะเลหายาก จำนวน 3 ชนิด คือ วาฬบรูด้า (Bryde’s whale : Balaenoptera edeni) จำนวน 14 ตัว ทราบชื่อจำนวน 7 ตัว ได้แก่ แม่ตองอ่อนกับเจ้าต้องตา แม่กันยากับเจ้ามาลี แม่สดใสกับลูกตัวใหม่ แม่ศรีสุขกับลูกตัวใหม่ เจ้ามีทรัพย์ และไม่ทราบชื่อ จำนวน 7 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร ระยะห่างจากฝั่ง 12-15 กิโลเมตร พบโลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless Porpoise : Neophocaena phocaenoides) จำนวน 5 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเล จ.สมุทรสาคร ระยะห่างจากฝั่ง 12-15 กิโลเมตร พบโลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin : Orcaella brevirostris) จำนวน 14 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม สัตวแพทย์ทำการตรวจสุขภาพวาฬบรูด้าที่สำรวจพบ พบมีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ มีความสมบูรณ์ร่างกาย (Body Condition Score) อยู่ในเกณฑ์ดี และเกณฑ์เฝ้าระวังในแม่ให้นมลูก และพบรอยโรค Tattoo Skin Disease (TSD) บนผิวหนังวาฬบรูด้าจำนวน 9 ตัว ได้แก่ แม่กันยา แม่ตองอ่อน แม่ศรีสุข แม่สดใส เจ้ามีทรัพย์ และวาฬไม่ทราบชื่อจำนวน 4 ตัว ซึ่งนายสัตวแพทย์จะติดตามสุขภาพของวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตกต่อไป
