วันที่ 26 มิถุนายน 2566 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีพบปลาตายเกยหาดบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี ผ่านทางแอพลิเคชั่นไลน์กลุ่ม RT Bangsaen จากการสำรวจเบื้องต้น พบปลาตะเพียนน้ำเค็ม (Anodontostoma sp.) เกยหาดชนิดเดียวกันทั้งหมด มีขนาดตัวใกล้เคียงกัน และจากการสุ่มวัดขนาด พบความยาว 19-21 เซนติเมตร ทั้งนี้ สภาพน้ำทะเลมีตะกอนสีน้ำตาลในมวลน้ำ มีกลิ่นเหม็น ไม่พบสัตว์น้ำอื่น ๆ ตาย และทางเทศบาลเมืองแสนสุขดำเนินการทำความสะอาดบริเวณชายหาดเรียบร้อยแล้ว จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ จำนวน 3 สถานี (BS1-3) พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ โดยมีค่าความเป็นกรดและด่าง 8.27-8.41 อุณหภูมิ 32.3 -33.5 องศาเซลเซียส ความเค็ม 27.9-28.1 ส่วนในพันส่วน และปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ 4.55-8.22 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ พบว่ามีการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดอะตอมสกุล Chaetoceros ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่สร้างสารชีวพิษ และจากการประสานข้อมูล สทช.2 ทราบว่าเกิดจากขณะทำการประมง อวนที่จับปลาขาด จึงเป็นสาเหตุให้ปลาเกยหาดดังกล่าว ทั้งนี้ คุณภาพน้ำทะเลประเภทสารอาหาร อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ โดยจะรายงานผลให้ทราบต่อไป
พบแมงกะพรุนพิษ พื้นที่ จ.ภูเก็ต
พบแมงกะพรุนหัวขวด 40 ตัว พื้นที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต
1 กันยายน 2567