วันที่ 4 กันยายน 2566 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยตอนกลาง ลงพื้นที่หินคันนาเหนือ อ.ละแม จ.ชุมพร เพื่อสำรวจสถานภาพทรัพยากรปะการัง และขยะในแนวปะการัง โดยวิธีดำน้ำลึก Line-Intercept Transect ผลการสำรวจพบว่าน้ำทะเลลึกประมาณ 2-4 เมตร อุณหภูมิน้ำประมาณ 29 องศาเซลเซียส ทัศนวิสัยใต้น้ำประมาณ 2-3 เมตร ปะการังกลุ่มเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona sp.) ปะการังจาน(Turbinaria sp.) ปะการังสมองร่องยาว(Platygyra sp.) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) ตัวอ่อนปะการังที่พบ ได้แก่ ปะการังจาน(Turbinaria sp.) ปลาที่พบในแนวปะการัง ปลาสลิดหินเกล็ดวาว (Neopomacentrus anabatoides) ปลาอมไข่ลายหางจุด (Apogon cookii) ปลาผีเสื้อปากยาว (Chelmon rostratus) ปลาผีเสื้อแปดขีด (Chaetodon octofasciatus) ปลาทรายขาวเกล็ดเงิน (Soclopsis margaritifer) ปลากะรังท้องกำปั่น (Cephalopholis formosa) โรคและอาการที่พบในปะการังได้แก่จุดชมพูบนปะการังโขด สัตว์ในแนวปะการังที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ทากเปลือยทองหยิบ (Doriprismatica atromarginata) ทากเปลือยปุ่มวาริโคซ่า (Phyllidia varicosa) ทากปุ่มกลมดำ (Phyllidiella nigra) ทากเปลือยปุ่มดำขาว (Phyllidiella pustulosa) และขยะที่ตกค้างในแนวปะการังได้แก่ เศษไม้ไผ่จากการทำการประมง ซึ่งได้ทำการเก็บขึ้นเรียบร้อย
