วันที่ 17 กันยายน 2566 กรม ทช. โดนศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนล่าง ได้รับแจ้งจากนายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เรื่องเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก พบลูกพะยูนเกยตื้นติดแห้งมีชีวิต บริเวณใกล้กับสะพานท่าเรือเกาะมุกด์ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ห่างจากฝั่งประมาณ 500 ม. ลูกพะยูนมีความยาวประมาณ 140 ซม. น้ำหนักประมาณ 50 - 60 กก. โดยเครือข่ายช่วยชีวิตฯ ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้น จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับมอบอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นมีชีวิต จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ทำให้เครือข่ายฯ สามารถเคลื่อนย้ายลูกพะยูนกลับสู่บริเวณน้ำลึกได้สำเร็จ ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ต่อมา เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้นำเรือขนาด 23 ฟุต ไปยังเกาะมุกด์เพื่อสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำของลูกพะยูนตัวดังกล่าว โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Multi-rotor จำนวน 2 เครื่อง บริเวณหน้าเกาะมุกด์ใกล้กับจุดที่พบการเกยตื้น ผลการสำรวจ พบพะยูนอยู่รวมกัน 1 ฝูง จำนวน 6 ตัว โดยมีพะยูนโตเต็มวัย 4 ตัว ลูกพะยูน 2 ตัว และพบว่าลูกพะยูนตัวดังกล่าวกลับสู่ฝูงได้สำเร็จ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้ทำการเฝ้าระวังการกลับมาเกยตื้นซ้ำของลูกพะยูนตัวดังกล่าวในพื้นที่ต่อไป
