วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัยฯ อันดามันตอนล่าง ได้นำเต่าตนุเกยตื้นมีชีวิตซึ่งได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยเต่าตนุตัวดังกล่าวเกยตื้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 พบบริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งกระบี่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นเต่าตนุ โตเต็มวัย เพศเมีย ขนาดความยาวกระดอง 81 ซม. กว้าง 72.5 ซม. น้ำหนักแรกพบ 43 กก. มีตะไคร่เกาะตามกระดองหลัง ศีรษะและครีบข้าง ซึม อ่อนแรง การลอยตัวผิดปกติ กระดองหลังแห้ง คะแนนความสมบูรณ์ร่างกายปกติ (BCS 3/5) สีเยื่อเมือกค่อนข้างซีด ซึ่งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ศวอล. ได้ทำการขนย้ายมาตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ทำการรักษาและอนุบาลไว้ ณ สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยมีการตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งพบค่าตับและไตสูง จึงได้ทำการให้ยาปฏิชีวนะ วิตามิน ยาแก้อักเสบและให้อาหารเพื่อรักษาภาวะผิดปกติ ลดความเจ็บปวด และบำรุงร่างกาย ใช้เวลาในการรักษาและอนุบาลทั้งสิ้น 4 เดือน และได้ดำเนินการปล่อยปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยทำการวัดขนาดและชั่งน้ำหนักภายหลังการรักษา ความยาวกระดอง 81 ซม. กว้าง 73 ซม. น้ำหนัก 51.4 กก. จากนั้นทำการฝังหมายเลขไมโครชิพเพื่อระบุตัวตนที่บริเวณขาหน้าข้างซ้าย รหัส 933076400548134 และขนย้ายไปปล่อย ณ บริเวณหาดราชมงคล ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จังหวัดตรัง เต่าตนุสามารถว่ายน้ำกลับสู่ธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศวอล. ได้ทำการเฝ้าระวังในพื้นที่หากสัตว์กลับมาเกยตื้นซ้ำ
พบเต่าทะเลเกยตื้น พื้นที่ จ.ภูเก็ต
พบเต่าตนุเกยตื้น บริเวณหน้าหาดโรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
7 กันยายน 2567